วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

[หนัง] นักอัพนมอิสระ

เรื่องดังกล่าวคือ ฟรีแลนซ์ (เต๋อ-นวพล)

เราแอบให้คำนิยามกับเรื่องนี้ว่า "หนังโลกสีเทา"
ซึ่งมีความหมายว่า หนังที่แสดงชีวิตจริงนั่นแหล่ะ  (ถึงจะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่เราก็นิยามไปแล้วว่าโลกใบนี้เป็นสีเทาๆ แบบปนมาเจนต้าบ้าง เหลืองบ้าง เป็นสีตุ่นๆ)


หนึ่งในฟรีแลนซ์เสนอให้เรามองถึงเรื่อง "คนที่มีความสุขกับการทำงาน" ในแง่ที่ ชีวิตเขาไม่ได้มีความสุขกับอย่างอื่นนอกจากงานเลย - ถึงขั้นหมกมุ่นกับงาน ชีวิตอย่างอื่นก็ไม่มีอีกเลย มีแต่ความคำว่างาน

เราไม่ได้จะมาบอกว่ามันไม่ดีนะกับชีวิตแบบนั้น เพราะในช่วงชีวิตหนึ่งเราก็มีอะไรที่คล้ายๆแบบนั้น การสนใจแต่งาน อยู่กับตัวเอง ทำสิ่งที่ใฝ่ฝัน มันไม่ทำให้ชีวิตเงียบเหงาหรอก ..จนกว่าจะวางงานนั่นแหล่ะ ความเงียบหรือพื้นที่ว่างมันถึงจะกลืนเข้ามา แผ่ขยายอาณาเขตตัวเองเข้าในตัวเรา วันที่เราทำอย่างอื่นไม่เป็นนอกจากงาน และไม่สามารถมีความสุขได้ ตรงนั้นที่จะกลายเป็น "ปัญหา" ในชีวิตขึ้นมา

นอกจากนี้แล้วความทุ่มเทให้งานของยุ่นเป็นเรื่องที่เราก็รู้สึกเหมือนโดนแทงใจ "มันไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เรารับงานมา มันก็ต้องเสร็จ แค่นั้นแหล่ะ" ยิ่งชีวิตที่การทำงานแนวนั้นของเราส่วนใหญ่เป็นงานฟรี งานกิจกรรม ถึงจะเป็นของเด็กๆก็เถอะ แต่ความรู้สึกหนักอึ้งของการรับผิดชอบ คิดแค่ว่ามันต้องเสร็จ ยังไม่ได้นึกถึงเงินหรืออะไรเยอะแยะ อย่างที่ยุ่นลืมกระทั่งไปขึ้นเงิน คือ บางทีเราไม่ทันคิดหรอกว่าผลของการทำงานมันจะมีอะไรต่อ แต่การทำให้เสร็จถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

ไอ้ "ไม่ทันคิด" นี่แหล่ะ ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดึงเราให้ติดตามจนจบ

เพราะไม่ทันคิดถึงผลที่ตามมา เลยโหมงานมากมาย จนเป็นโรคอะไรไม่รู้
เพราะไม่ทันคิด รู้ตัวอีกที ข้างตัวเลยแทบจะไม่เหลือใครแล้ว
เพราะไม่ทันคิด รู้ตัวอีกที ก็หายใจไม่ได้เสียแล้ว

ใช่ แม้ว่ายุ่นจะมีเพื่อนคนสำคัญที่คอยเคียงข้างเวลาลำบาก แต่ว่าชีวิตของเพื่อนคนสำคัญไม่ได้อยู่กับเราได้ตลอดเวลา วันหนึ่งเขาก็ต้องจากเราไป - เราไม่ได้พูดถึงการสนับสนุนให้มีคู่หรือแต่งงานอะไรแบบนั้นนะ แค่เสนอว่ายุ่นนั้นไม่มีสังคมอื่นเลย พอเวลาเขานึกย้อนกลับมาจริงๆ

เหมือนว่าเขาจะแทบไม่เหลือใครเลย


หมออิมเป็นคนกระชากเขาออกจากโลกของตัวเอง
ในสัญลักษณ์ของ "หมอ" และ "คนที่ชอบ"
คือสองอย่างที่เขาละทิ้งไปนานแล้ว นั่นคือสุขภาพ และความรู้สึกของตัวเอง

รายละเอียดสนุกๆของการพบหมอ คิวยาว ความจริงรัฐและเอกชน ฯลฯ หนังก็เล่าออกมาได้ดี (แม้ว่าหมอจะดูกล้าจับรอยโรคต่างๆมากไปหน่อยก็เถอะ)


หมอเป็นอาชีพที่โคตรตรงข้ามกับฟรีแลนซ์ - โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์กราฟฟิคละกัน
(แม้จะเป็นสองอาชีพที่เราใฝ่ฝันทั้งคู่ก็ตาม)
ใครๆก็ว่ามั่นคง ใครๆก็ว่าหนักแต่จะสบายภายหลัง ใครๆก็ว่างั้นงี้
ในขณะเดียวกันก็มีจุดร่วมกันมากมาย เรียกว่าเหมือนเลยยังได้ ถ้าเรามองข้ามรูปแบบการทำงานไป



ส่วนเรื่องที่จะต้องไปจีบหมอมั้ย หรือควรกลับบ้านไปเยี่ยมแม่หรือเปล่า หรือบลาๆ ที่หนังให้ทุกคนไปคิดต่อเอาเองว่า ชีวิตตัวเองจะเหมาะกับช้อยส์แบบไหน - ที่แน่ๆคือควรรักษาสุขภาพตัวเองบ้าง เป็นสิ่งที่ควรทำจริงๆนะเราว่า


ถึงตอนต้นเรื่องยุ่นจะยืนกรานว่าไม่กลัวความตาย เพราะชีวิตได้ทำสิ่งที่ชอบแล้วตายไป มันจะมีอะไรไปมากกว่านี้อีก
แต่ยุ่นก็คิดออกมาว่า


"ยังไม่ได้ทำอะไรอีกหลายอย่างเลย"


เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตเรา มันมีอะไรให้ทำมากกว่าแค่ทำสิ่งที่ชอบ
และ
นี่เป็นประโยคสั้นๆที่เราคิดอยู่เสมอว่า วันที่เราตายเราจะมีความรู้สึกนี้ให้น้อยที่สุด ถึง ไม่มีเลย



หวังว่าจะเจอกันอีก

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

[หนัง] สุนทรพจน์ของพระราชา


หรือ



 ต้องเกริ่นก่อนว่าตามมาจากนักแสดงนำ เพราะปกติเรามักจะคิดว่าหนังชีวประวัติไม่สนุก
แต่เรื่องนี้ทำเราเปลี่ยนทัศนคติเลยทีเดียว ถึงมันอาจจะเปลี่ยนทัศนคติคนอื่นไปนานแล้วก็เถอะ 5555 (หนังปี 2010)


   บางทีเรื่องเล็กๆอย่างการพูด ก็กลายมาเป็นเรื่องที่เป็นอุปสรรคชีวิต เพราะว่าชีวิตมี"การพูด"เป็นอาชีพ เหมือนคิงจอร์จที่หกที่จับพลัดจับพลูมาเป็นกษัตริย์ และในบรรดางานเซนต์เอกสารทั้งหมดทั้งมวลคือ การพูด เป็นกำลังใจในประชาชน/แถลงข่าวบลาๆ สิ่งที่เป็นปัญหาชีวิตของเขาคือ "พูดติดอ่าง" หรือ stammer (ได้ศัพท์เลย ดูหนังนี่ดีจริงๆ)


   ตอนเด็กๆเราเคยมีเพื่อนที่เป็นแบบนี้ คิดว่าคนที่เคยมีเพื่อนพูดติดอ่างน่าจะเป็นเหมือนกัน คือ ไม่เข้าใจ ทำไมไม่พูดชัดๆ บางคนอาจจะสงสาร บางคนอาจจะล้อเลียนเขาไปเลย ซึ่งอันที่จริงแล้วอาการพูดติดอ่างมีที่มาที่ไป อย่างในเรื่องนี้เสนอถึงการที่ในวัยเด็กถูกบังคับและฝืนในทำอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ เช่นบังคับเขียนมือขวา แม้จะถนัดซ้าย ดัดขาให้ตรง เพราะชาโก่ง แต่มันก็มีอีกหลายๆสาเหตุที่ทำให้เด็กสักคนกลายเป็นคนติดอ่าง



   เราชอบการนำเสนออารมณ์ของหนังเรื่องนี้ ตรงที่มันสร้างความกดดันให้กับผู้ดูไปด้วย ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเราก็พูดต่อหน้าคนจำนวนมากไม่เก่งหรือเปล่า เลยรู้สึกว่าอิน (ฮา)  แม้จะเป็นแค่การอ้ำอึ้ง แต่เมื่อมันเกิดขึ้นต่อหน้าคนจำนวนมาก สายตาคาดหวังและผิดหวังของพวกเขาเหล่านั้น เป็นเหมือนทะเลของความกลัว ที่จะทำให้ใครสักคนชะงักการพูดไปได้อย่างง่ายดาย


   แต่ประเด็นสำคัญที่เรามองจากเรื่องนี้ได้ก็คือการที่เบอตี้(คิงจอร์จ)ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านการพูดมาช่วยเหลือ ถึงพวกเขาจะไม่ค่อยลงรอยกัน แต่สุดท้ายด้วยใจจริงของผู้รักษา เขาก็ยอมรับและปฎิบัติตาม แน่นอนว่ามันไม่ง่าย ไม่ใช่ว่าฝึกๆแล้วจะพูดได้คล่องปรื๋อตอนจบแบบหนังแฮปปี้เอนดิ้งทั่วไป แต่มันก็แสดงให้เห็นพัฒนาการด้านการพูดของเขา  แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เราโคตรไม่ถนัดขนาดไหน ถ้าเราฝึกฝนมันอย่างตั้งใจ เราก็จะทำได้"ดีขึ้น"แน่นอน



   เราเลิกเชื่อคำว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้
แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้เรากลับไปเชื่อหรอก

แต่มันบอกเราว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน เราก็จะยิ่งพัฒนามากขึ้น"

เพราะ ความสำเร็จ ไม่ได้การันตีด้วยความพยายามเพียงอย่างเดียว มันประกอบไปด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ความพยายามอย่างสม่ำเสมอ การสนับสนุน และบางทีก็ต้องมีตัวช่วยเล็กๆน้อยๆ ทำให้ทางสู้ความสำเร็จมันเรียบขึ้น



หนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเสนอองค์ประกอบทั้งหมดนั้น
ในแง่ที่ว่า อุปสรรคอย่างเดียวในชีวิตตอนนั้น คือ





ตัวเราเอง




ถ้าเคยตั้งเป้าทำอะไรสักอย่างแล้วสำเร็จ คิดว่าเราน่าจะมีความเห็นตรงกัน :D